วันศุกร์ที่ 12 มกราคม 2567 เวลา 11.00 น. ณ ศูนย์วัฒนธรรมไทยเบิ้ง ตำบลโคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี องค์การบริหารส่วนตำบลโคกสลุง ได้จัดแถลงข่าวสื่อมวลชน แจ้งเรื่องการจัดงานของดี ประจำตำบลโคกสลุง ครั้งที่ 1 ประจำปีงบประมาณ 2567 ระหว่างวันที่ 19 – 21 มกราคม 2567 บริเวณริม เขื่อนจุดชมวิวพนังกั้นน้ำรถไฟลอยน้ำ
ดร.รัฐพล ธุระพันธ์ นายอำเภอพัฒนานิคม กล่าวถึงการท่องเที่ยวของอำเภอพัฒนานิคมว่า พัฒนานิคม เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดลพบุรี จัดตั้งขึ้นโดยโอนพื้นที่ของ 4 อำเภอ คือ อำเภอโคกสำโรง อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี และอำเภอแก่งคอย อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี มาจัดตั้ง และเป็นอำเภอที่ตั้งของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปัจจุบันถูกจัดให้เป็นพื้นที่จัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ และเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมของจังหวัดลพบุรี แบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 9 ตำบล และ 11 อปท. คำขวัญ: เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์งามตระการ สูงตระหง่านเขาพระยาเดินธง ดงน้ำผึ้งโคนมไก่เนื้อ งามมากเหลือทุ่งทานตะวัน พิพิธภัณฑ์บ้านโป่ง มะนาว ซึ่งตำบลโคกสลุงนี้ถือว่าเป็นพื้นที่การท่องเที่ยวเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และทุ่งทานตะวัน รวมทั้งยังมี วัฒนธรรมประเพณีดั่งเดิมชาวบ้านในอดีตคือชุมชนไทยเบิ้งที่อพยพมาจากโคราช และที่สำคัญยังมีช่วงเทศกาลน้ำเต็มอ่างเก็บน้ำ เกือบถึงรางกว่า 2 กิโลเมตร ทำให้เห็นรถไฟวิ่งบนน้ำกลางอ่าง เป็นที่มาของคำว่ารถไฟลอย น้ำ และในขณะนี้ ยังค้นพบแหล่งหินตัดเสาดิน ที่เป็นอันซีนน่าทึ่งอีกด้วย
อาจารย์สุรชัย เสือสูงเนิน ปราชญ์ชาวบ้านโคกสลุง กล่าวถึงวิถีชีวิตของคนไทยเบิ้งบ้านโคกสลุงว่าเป็นกลุ่มชนอีกท้องถิ่นหนึ่ง ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก และยังตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายอยู่ในจังหวัดอื่น ๆ ป็นกลุ่มที่ใช้ภาษาไทยภาคกลางเพี้ยน เหน่อ น้ำเสียงห้วนสั่น ภาษาที่นิยมพูดจะลงท้ายประโยคด้วยคำว่า ‘เบิ้ง’ วัฒนธรรมคล้ายกลุ่มชนไทยภาคกลาง แต่ยังมีลักษณะบางอย่าง ที่แสดงความเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชน เช่น ภาษา ความเชื่อ เพลงพื้นบ้าน เครื่องมือเครื่องใช้ ในการประกอบอาชีพ การทอผ้ารวมทั้งการละเล่นต่าง ๆ ความคิด ความเชื่อที่ยึดถือปฏิบัติกันมาจนตลอดเป็นประเพณี จึงเป็นรากฐานส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดวิถีชีวิตของคนในสังคม และปรากฏ ในทุกขั้นตอนของการดำรงชีวิต ซึ่งโบราณได้กำหนดขั้นตอนที่สำคัญของชีวิต มี 4 ครั้ง คือ ตอนเกิด บวช แต่งงาน และตอนตาย จึงนิยมจัดทำพิธีเพื่อให้เกิดสวัสดิมงคล
นายรัชพล เอื้อสลุง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกสลุง ได้กล่าวชี้แจงรายละเอียดว่า การจัดงานครั้งนี้เพื่อส่งเสริมชุมชน ทีมีอัตลักษณ์ท้องถิ่นไทยเบิ้งของคนโคกสลุง สร้างการมีส่วนร่วม โดยยังคงยึดของดี ประเพณี ผลิตภัณฑ์ การละเล่น อาหาร เพื่อให้คนทั่วไปได้รู้จักท้องถิ่นเก่าดั่งเดิมก่อนจะมาเป็นตำบลโคกสลุงในปัจจุบัน และยังสร้างรายได้ให้กับชุมชนชาวบ้านทั้ง 11 หมู่บ้านในเขตตำบลโคกสลุง
โดยในงานจะมีกิจกรรมดังนี้
→ การแสดง Light & Sound แสงสีเสียง ประกอบการแสดงย้อนรอยประวัติศาสตร์ อารยธรรมลุ่มน้ำป่าสัก
ความเจริญรุ่งเรืองของชาวไทยเบิ้งโคกสลุง จากอดีตจนถึงปัจจุบัน จากนักแสดงชาวบ้านโคกสลุง
ร่วมกับวิทยาลัยนาฏศิลป์ กว่า 40 ชีวิต
→ ชมการแสดงเดินแบบผ้าทอไทยเบิ้งโดยมหาวิทยาลัยราชภัฎเทพสตรี เป็นการยกระดับจากผ้าทอพื้นบ้าน
สู่ระดับสากล ออกแบบนำมาตัดเป็นชุดแฟชั่นทันสมัย
→ ชมการแสดงวาดภาพศิลปะจิตรกรรม วิถีชีวิตชุมชนไทยเบิ้ง จินตลีลาประกอบบทเพลง โดย ศิลปิน อ.
ครูเบิ้ม เติมศิลป์ ร่วมกับวงซันเด้อหมาเก้าหาง
→ ยกระดับอาหารพื้นบ้านสู่ภัตตาคารชุมชน โดยการรังสรรค์อาหารร่วมกันระหว่างเชฟในชุมชน กับ เชฟ
มืออาชีพ ได้รับเกียรติจาก เชฟโน๊ต อธิป สโมสร, เชฟต้น อนุสรณ์ ติปยานนท์, และเชฟปุ๊ จิดาภา บ้าน
มาดาม ที่จะนำวัตถุดิบพื้นบ้านในตำบลมาดัดแปลงเป็นเมนูขึ้นโต๊ะสวยงามพร้อมรสชาดแบบมีมาตรฐาน