ทิศทางตลาดข้าวหอมมะลิสระโบสถ์ ข้าว เป็นอาหารหลักที่ประชากรในประเทศไทยบริโภคกันมานานแล้ว แตกต่างกันที่ชนิดของข้าว เช่น ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ซึ่งก็แล้วแต่ความคุ้นเคย และ วัฒนธรรมของแต่ละท้องที่ จึงมีการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวชนิดต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคมากที่สุด โดยเฉพาะพันธุ์ข้าวหอมมะลิในประเทศไทย คือ ข้าวหอมมะลิ 105 ได้รับรางวัลชนะเลิศ ในการส่งเข้าประกวดโดยสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ซึ่งในการได้รับรางวัลชนะเลิศครั้งนี้ถือว่าเป็นการได้รับรางวัลชนะเลิศระดับโลกเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ลักษณะจุดเด่นของข้าวหอมมะลิมีกลิ่นหอมในตนเอง เป็นกลิ่นหอมคล้ายใบเตยเวลาเคี้ยวเมล็ดข้าวจะนุ่มหอมอร่อยมากกว่าข้าวอื่นๆ น้อยคนนักที่จะรู้ว่าต้นกำเนิดของสายพันธุ์จริง ๆ ของพันธุ์ข้าวหอมมะลิ เกิดมาในพื้นที่ภาคกลาง ปลูกคัดพันธุ์บริสุทธิ์และเปรียบเทียบพันธุ์ที่สถานีทดลองข้าวโคกสำโรง (ขณะนี้เป็นสถานีข้าวลพบุรี) อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี โดยเกษตรกรทั่วไปเรียกว่า “ขาวดอกมะลิ 105” และได้แพร่หลายไปในหลายจังหวัดโดยเฉพาะทุ่งกุลาร้องไห้ ต่อมาได้มีการปรับปรุงพันธุ์ข้าว ขาวดอกมะลิ 105 จนได้ข้าวพันธุ์ กข 15 ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ประกาศให้ ข้าวทั้ง 2 พันธุ์เป็นข้าวหอมมะลิไทย จึงไม่ต้องแปลกใจหากจังหวัดลพบุรีจะเป็นพื้นที่ในการผลิตข้าวหอมมะลิอีกพื้นที่หนึ่งของไทย ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา เราได้ยินชื่อของ “ข้าวหอมมะลิสระโบสถ์” ว่ามีความนุ่ม หอม อร่อย มีเอกลักษณ์ของข้าวหอมมะลิ อำเภอสระโบสถ์ จังหวัดลพบุรี จึงถือว่าเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากมีพื้นที่เป็นนาดินขาวดินภูเขาไฟภาคกลางที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุ เรียกว่า ทุ่งพุข้าวที่ปลูกในพื้นที่นี้จะมีลักษณะเมล็ดข้าว เรียว ยาว เมล็ดขาว ท้องไข่น้อย เมื่อหุงเป็นข้าวสุกมีสีขาวนวล นุ่ม เหนียว ไม่แข็งกระด้าง ที่สำคัญจะมีกลิ่นหอมคล้ายใบเตยตั้งแต่เริ่มปลูกจนกระทั่งข้าวสุก แม้ทิ้งไว้นานๆ ก็ยังมีกลิ่นหอมอยู่ จึงเป็นอัตลักษณ์พันธุ์ข้าวของอำเภอสระโบสถ์ ในชื่อ “ข้าวหอมมะลิทุ่งพุ” ปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่อำเภอสระโบสถ์มีการรวมตัวจัดตั้งกลุ่มเพื่อผลิตข้าวหอมมะลิอยู่หลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มธรรมชาติ และแบบจดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มแปลงใหญ่ กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตรสระโบสถ์ จำกัด เป็นสหกรณ์ระดับอำเภอ และสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. ลพบุรี จำกัด มีบทบาทร่วมในการเป็นแหล่งรับซื้อผลผลิตข้าวเปลือกหอมมะลิจากสมาชิกและเกษตรกรจากกลุ่มต่าง ๆ ในช่วงฤดูการผลิตที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ซึ่งมีส่วนช่วยด้านราคาตลาดข้าวเปลือก ทำให้ในพื้นที่ไม่ได้ผูกขาดราคาอยู่ที่โรงสีเอกชนเพียงอย่างเดียว เพิ่มการแข่งขันการรับซื้อข้าวเปลือก ประโยชน์ตกไปอยู่ที่เกษตรกรได้รับราคาข้าวเปลือกในราคายุติธรรม
โดยมีโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยสถาบันเกษตรกร สนับสนุนสินเชื่อให้กับสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนกับสหกรณ์ ดำเนินการโดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดลพบุรี และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจังหวัดลพบุรี ด้านตลาดข้าวสาร กลุ่มวิสาหกิจชุมชนโรงสีข้าวชุมชนบ้านคลอง ตำบลมหาโพธิ อำเภอสระโบสถ์ จังหวัดลพบุรี เป็นกลุ่มที่ดำเนินกิจกรรมแปรรูปข้าวหอมมะลิ รวบรวมข้าวหอมมะลิจากสมาชิก เก็บไว้และแปรรูปขายในนาม ข้าวหอมมะลิ ทุ่งพุ อำเภอสระโบสถ์ จังหวัดลพบุรี ได้รับการสนับสนุนด้านการตลาด ตามแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงพาณิชย์ “ตลาดนำการผลิต” รวมทั้งนโยบายกระทรวงพาณิชย์ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดของข้าวสารหอมมะลิสระโบสถ์ให้ถึงผู้บริโภค ในวงกว้างมากขึ้น มีการร่วมมือระหว่างองค์การคลังสินค้าในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์และประชาสัมพันธ์ในนาม ข้าวหอมมะลิจังหวัดลพบุรี ให้เป็นที่รู้จักมาก รวมถึงมีการลงนามความร่วมมือทางการค้า ระหว่าง บริษัท เอกภาพซุปเปอร์ซัพพลาย จำกัด เพื่อทำการตลาดข้าวหอมมะลิของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านคลอง โดยการรับซื้อข้าวสารบรรจุถุง ขนาดบรรจุถุงละ 5 กิโลกรัม โดยจะส่งมอบข้าวสารหอมมะลิที่เอกภาพซุปเปอร์ สาขาสระโบสถ์ ในด้านตลาดออนไลน์ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดลพบุรี มีการนำข้าวเข้าจำหน่ายในระบบตลาดเกษตรออนไลน์ หรือจะเข้าไปดูใน Facebook กลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวหอมมะลิทุ่งพุ สามารถเข้าไปกดสั่งซื้อมารับประทานได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ในยุคโลกไร้พรหมแดน การส่งเสริมการตลาดโดยใช้นวัตกรรมการสื่อสารเป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดให้ง่ายขึ้น อยู่ที่ว่าแหล่งผลิตจะสามารถคงคุณภาพ และพัฒนาให้ดีขึ้นได้หรือไม่ การหาตลาดจำหน่าย อาจจะยังไม่ยากเท่ากับการรักษาตลาดให้ทำการค้าอย่างต่อเนื่องเห็นได้ว่า ข้าวหอมมะลิสระโบสถ์ เป็นข้าวพื้นถิ่นที่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคเพิ่มขึ้น มีหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยขับเคลื่อน ทั้งภาครัฐและเอกชน ส่งเสริมและพัฒนาทั้งด้านการผลิตและด้านการตลาด เพื่อพัฒนาคุณภาพให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ก้าวต่อไปของข้าวหอมมะลิสระโบสถ์ ในปี 2565 คือ พัฒนาตลาดสินค้าข้าวสู่ BCG Model เพื่อพัฒนาให้เป็นเกษตรมูลค่าสูง BCG Value Chain ภาคการเกษตร ภายใต้ตลาดนำการผลิต เกษตรไทยสู่ 3 สูง “ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง รายได้สูง” สามารถใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่าและยั่งยืน เป็นการบูรณาของหน่วยงานในจังหวัดลพบุรี และได้รับการสนับสนุนจาก อคส. ช่วยประสานงานกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาดำเนินกระบวนการยื่นคำขอจดทะเบียนข้าวหอมมะลิลพบุรี เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) ของไทย มารอลุ้นผลกันต่อไป แต่ตอนนี้ในฐานะผู้บริโภค พอได้ลองชิมข้าวหอมมะลิอำเภอสระโบสถ์แล้วติดใจ รับประทานข้าวมื้อไหนลืมอิ่มกันเลยทีเดียว
อัจฉรา กฤตพัฒนากุล กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดลพบุรี